ประเด็นการมีส่วนร่วม
วันที่ 25 พฤศจิกายน พ.ศ. 2567 คณะสังคมศาสตร์การพัฒนาท้องถิ่น มหาวิทยาลัยราชภัฎพิบูลสงคราม ได้ดำเนินโครงการ “การพัฒนาคุณภาพชีวิตและผลิตภัณฑ์ในชุมชนเพื่อส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ตำบลเนินกุ่ม อำเภอบางกระทุ่ม จังหวัดพิษณุโลก” กิจกรรมที่ 1 การทบทวนแผนการพัฒนาเชิงพื้นที่ ณ สำนักงานเทศบาลตำบลเนินกุ่ม อำเภอบางกระทุ่ม จังหวัดพิษณุโลก
ข้อมูลผู้มีส่วนร่วม
ชาวบ้านในพื้นที่ตำบลเนินกุ่มเพื่อให้เกิดการพัฒนาคุณภาพชีวิตและยกระดับรายได้ของชุมชน ซึ่งกิจกรรมในครั้งนี้มีคณะผู้บริหารท้องถิ่นและชาวบ้านในชุมชนเข้าร่วมกว่า 50 คน
ผลจากการมีส่วนร่วม
ตำบลเนินกุ่มเป็นพื้นที่ตั้งอยู่ในเขตอำเภอบางกระทุ่ม มีลักษณะพื้นที่เกษตรกรรมที่อุดมสมบูรณ์ที่ราบลุ่มประชาชนส่วนใหญ่มีการเพาะปลูกทำการเกษตรทั่วไป ตำบลนี้มีประวัติศาสตร์ความเป็นมาในส่วนของวัฒนธรรมและความศรัทธาหลวงพ่อปั้นและเป็นชุมชนที่มีสภาพแวดล้อมธรรมชาติที่สมบูรณ์ และยังมีโบราณสถานและวัดวาอารามที่เก่าแก่จำนวนหลายวัดรวมถึงการจัดงานประเพณีและกิจกรรมท้องถิ่นที่ดึงดูดนักท่องเที่ยวให้มาเยือนในทุกปีโดยในวันเสาร์-อาทิตย์ สัปดาห์ที่ 3 ของเดือนกันยายน วัดเนินกุ่มและเทศบาลตำบลเนินกุ่มได้จัดงานประเพณี งานปิดทองหลวงพ่อปั้นชมการแข่งขันเรือบก ลิ้มรสข้าวเม่าทอดของวัดเนินกุ่ม ผู้สูงอายุและประชาชนในพื้นที่ที่มีความศรัทธากับประเพณีดังกล่าวจะเข้ามาร่วมกิจกรรมประเพณีและทอดข้าวเม่าขายเพื่อนำรายได้เข้าวัดเนินกุ่มโดยอาศัยแรงศรัทธา ความเชื่อที่มีต่อหลวงพ่อปั้นในส่วนของผลิตภัณฑ์ที่ยังคงดำเนินกิจกรรมอยู่ ได้แก่ การทำข้าวแต๋น และข้าวเม่าทอด ซึ่งข้าวเม่าทอดกลายเป็นอาหารที่ขึ้นชื่อและมีความเชื่อมโยงกับวิถีชีวิตวัฒนธรรมเช่นกัน จากการสำรวจข้อมูลพลว่า ข้าวเม่าทอดกลายเป็นอาหารพื้นถิ่นที่สะท้อนวิถีชีวิตวัฒนธรรมและมีการถ่ายทอดภูมิปัญญาจากผู้สูงอายุ ดังนั้นจึงเล็งเห็นความศักยภาพในการเพิ่มรายได้โดยใช้เศรษฐกิจสร้างสรรค์ที่มาจากภูมิปัญญาวัฒนธรรมประเพณีนำมาพัฒนาแปรรูปผลิตภัณฑ์ข้าวเม่าทอดให้มีการเก็บรักษาผลิตภัณฑ์ที่นานมากขึ้นและสร้างรายได้ให้กับกลุ่มผู้สูงอายุเกิการพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่เป็นนวัตกรรมและนำผลิตภัณฑ์สู่ตลาดสากล โดยเพิ่มช่องทางการจำหน่ายแบบใหม่ ส่งเสริมการตลาดมากขึ้น นอกจากนั้นเพื่อให้เกิดการผลิตครบวงจร ทางผู้ดำเนินการจึงได้มีการส่งเสริมตั้งแต่กระบวนการผลิตข้าวที่เหมาะสมและปลอดภัย การเพิ่มพื้นที่การผลิตกล้วยเชิงพาณิชย์แบบครบวงจร ที่สามารถเป็นวัตถุดิบในพื้นที่ลดการนำเข้าและเพิ่มมูลค่าวัสดุเหลือใช้จากต้นกล้วยได้ทั้งต้น ส่งเสริมคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของประชาชนในพื้นที่ด้วยกิจกรรมต่าง ๆ เช่น กิจกรรมส่งเสริมการดูแลสุขภาวะทางด้านร่างกายและจิตใจ กิจกรรมลดรายจ่ายเพิ่มรายได้ตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงเพื่อสร้างชุมชนให้เกิดความยั่งยืน
การนำผลจากการมีส่วนร่วมไปปรับปรุงพัฒนาการดำเนินงาน
จากการลงพื้นที่ชุมชนทำให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการทบทวนแผน ผลผลิต วิเคราะห์สภาพปัญหานำไปสู่การปรับปรุงให้ดีขึ้น ประชาชนมีสุขภาวะที่ดีขึ้น เกิดผลผลิตที่ได้รับการแปรรูปที่มีคุณภาพและได้มาตรฐาน รวมทั้งนำผลไปพัฒนาการตลาดและช่องทางในการจำหน่ายผลิตภัณฑ์เพื่อต่อยอดรายได้สู่ชุมชน




